วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2555



สื่อการสอนประเภทวัสดุ


                การใช้สื่อการสอนประเภทวัสดุได้รับความนิยมมากในการเรียนการสอน  เพราะมีขนาดเล็ก  จัดหาได้ง่าย  และใช้สะดวก  แต่มีศักยภาพสูงถ้านำไปใช้อย่างเหมาะสม

ความหมายของสื่อวัสดุ

                คำว่า วัสดุ  หมายถึงสิ่งของที่มีขนาดเล็กบางอย่างมีความทนทานสูง  แต่บางอย่างฉีกขาดแตกหักชำรุดเสียหายได้ง่าย  เรียกว่าวัสดุสิ้นเปลือง  เช่น  กระดาษ  กาว  สี  เชือก  กิ่งไม้  ใบไม้  วัสดุมีหลายประเภทขึ้นอยู่กับเกณฑ์ในการจำแนก  เช่น วัสดุตามธรรมชาติ  วัสดุประดิษฐ์  วัสดุถาวร  วัสดุสิ้นเปลือง วัสดุแข็ง วัสดุเหลว วัสดุ2มิติ  วัสดุ3มิติ   เมื่อนำวัสดุเหล่านี้มาใช้ประกอบการเรียนการสอนจึงเรียกว่า สื่อวัสดุ ซึ่งเป็นสื่อขนาดเล็กที่มีศักยภาพในการบรรจุเก็บเนื้อหาและถ่ายทอดความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  บางชนิดสื่อความหมายได้ด้วยตัวมันเอง เช่น  แผนภูมิ  แผนภาพ  แผนสถิติ โปสเตอร์ แต่บางชนิดมีขนาดเล็กมากต้องอาศัยเครื่องมืออุปกรณ์ในการฉายเพื่อขยายเนื้อหาสาระให้มีขนาดใหญ่หรือเสียงดังขึ้นจึงจะสื่อความหมายอย่างชัดเจน  เช่น  ฟิล์มสไลด์   ฟิล์มภาพยนตร์  เทปเสียง  แผ่นโปร่งใส  เป็นต้น


ประเภทของสื่อวัสดุ

                สื่อประเภทวัสดุที่ใช้กับการเรียนการสอนในปัจจุบัน หากจำแนกตามคุณลักษณะที่ปรากฏให้เห็นมีดังนี้ 
                1.  สื่อวัสดุ 2 มิติ  โดยทั่วไปหมายถึงสื่อวัสดุกราฟิกซึ่งมีรูปร่างบางแบนไม่มีความหนา  มีองค์ประกอบสำคัญคือ รูปภาพ  ตัวหนังสือ  และสัญลักษณ์ สื่อเหล่านี้ได้แก่  กราฟ  (Graphs) แผนภูมิ (charts) ภาพพลิก (flipcharts)  ภาพโฆษณา (posters)  ภาพชุด  (flash  cards) แผ่นโปร่งใส (transparencies)
       2.  สื่อวัสดุ 3 มิติ  เป็นสื่อที่สร้างมาจากวัสดุต่าง ๆ สามารถตั้งแสดงได้ด้วยตัวมันเอง  ที่นิยมใช้กับกระบวนการเรียนการสอนได้แก่  หุ่นจำลอง(models)   ของจริง(real objects)  ของตัวอย่าง(specimens)  ป้ายนิเทศ(bulletin  board)   กระดานแม่เหล็ก(magnify  boards)  ตู้อันตรทัศน์ (diorama)
       3.   สื่อวัสดุอิเล็คทรอนิคส์  เป็นสื่อที่ใช้กับเครื่องอิเล็คทรอนิคส์ต่าง ๆ มีทั้งประเภทเสียงอย่างเดียวและประเภทที่มีทั้งภาพและเสียงอยู่ด้วยกัน  เช่น  เทปเสียง (tape)  ม้วนวีดิทัศน์(video  tape)  แผ่นซีดี  (CD-Rom) วีซีดี (VCD)  ดีวีดี(DVD) เป็นต้น

สื่อวัสดุ 2 มิติ

                โดยทั่วไปสื่อวัสดุ  2  มิติที่นิยมใช้ประกอบการเรียนการสอนมากมีหลายชนิด  แต่สื่อวัสดุ 2 มิติ ซึ่งมองเห็นทางตา  ส่วนมากอาศัยงานกราฟิกเป็นองค์ประกอบหลักในการกระตุ้นการรับรู้และการสื่อความหมาย
                วัสดุกราฟิกเป็นสื่อที่ผู้เรียนสามารถรับรู้ได้ทางตาซึ่งถือว่าเป็นอวัยวะที่มีปริมาณการรับรู้มากที่สุดเมื่อเทียบกับการรับรู้ด้วยประสาทรับสัมผัสด้านอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้เองวัสดุกราฟิกจึงมีบท บาทและมีความสำคัญต่อกระบวนการเรียนการสอนและการถ่ายถ่ายทอดความรู้  สื่อวัสดุกราฟิกที่เห็นได้โดยทั่วไปมีมากมายหลายรูปแบบ  เช่น  โปสเตอร์  หนังสือ   วารสาร  ป้ายประกาศ   ข้อความบนสลากสินค้า  ลวดลายเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม  สื่อการสอนต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นภาพเขียน  สัญลักษณ์  และตัวอักษร

            1.   ความหมายของวัสดุกราฟิก

               กราฟิก (Graphics) เป็นคำมาจากรากศัพท์ภาษากรีก 2 คำรวมกันคือ  Graphikos หมายถึงการเขียนภาพทั้งที่เป็นภาพสีและขาว-ดำ  กับ Graphien ซึ่งหมายถึง  การใช้ลายเส้นและตัวอักษรเพื่อการสื่อความหมาย   ดังนั้นกราฟิกจึงเป็นงานการเขียนภาพไม่ว่าจะเป็นภาพสี  ภาพขาว-ดำ  ตลอดการใช้เส้นและตัวอักษรเพื่อการสื่อความหมาย
                วิรุฬ  ลีลาพฤทธิ์  (2521  หน้า 172 ) ได้ให้ความหมายวัสดุกราฟิก  ไว้ว่าหมายถึง สื่อการสอนที่ให้ความหมายโดยการแสดงด้วยลายเส้นหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ ซึ่งจะใกล้ความจริงมากกว่าใช้สัญ ลักษณ์ที่เป็นคำพูด  วัสดุเหล่านี้ได้แก่  แผนที่  แผนภูมิ  แผนภาพ  ภาพโฆษณา  ภาพการ์ตูน  และแผนสถิติ
            สมบูรณ์  สงวนญาติ (2534  หน้า 149) ให้ความหมายวัสดุกราฟิกว่า  หมายถึง วัสดุลายเส้นที่สร้างขึ้นโดยใช้เส้น สี ประกอบเข้าด้วยกันกลายเป็นภาพลายเส้น แผนภาพ  เครื่องหมาย  สัญลักษณ์ ภาษา ซึ่งมีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ใช้ช่วยในการสื่อความหมายของมนุษย์ส่วนมากนิยมเขียนหรือวาดลงบนวัสดุพื้นผิวเรียบ  นอกจากนี้ยังอธิบายว่า  ในด้านการเรียนการสอน  วัสดุกราฟิกจึงหมายถึง  สื่อจำพวกหนึ่งที่เกิดจากการใช้เส้น สี  ขีดเขียนหรือวาดบนแผ่นกระดาษ  ใช้เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความรู้ระหว่างครูกับนักเรียน จัดเป็นทัศนวัสดุราคาเยาที่มีประสิทธิ ภาพ  ครูสามารผลิตขึ้นใช้ได้เองในโรงเรียน
                ณรงค์  สมพงษ์  (2535 หน้า 88) อธิบายว่า  วัสดุกราฟิก  เป็นสื่อประเภททัศนวัสดุอย่างหนึ่งที่นำมาใช้ในการสื่อความหมายเพื่อแสดงสัญลักษณ์หรือความหมายของอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง  แนวความคิด  และเสริมความเข้าใจโดยอาศัยส่วนประกอบของภาพเขียน  คำพูด  และรูปภาพ  ตัวอย่างของวัสดุกราฟิกที่ใช้กับงานส่งเสริมได้แก่  กราฟ  แผนภูมิแบบต่าง ๆ ภาพพลิก  ภาพโฆษณา  สมุดภาพ  กระดานผ้าสำลี  ป้ายนิเทศ  ฯลฯ 
            จึงสรุปได้ว่า  วัสดุกราฟิก หมายถึง สื่อการเรียนการสอนที่มีองค์ประกอบสำคัญคืองานกราฟิกได้แก่ภาพเขียนทั้งที่เป็นภาพสี  ภาพขาวดำ  ตัวหนังสือ เส้นและสัญลักษณ์  อย่างไรก็ดีงานกราฟิกทั้งหลายแม้ว่าจะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการวาดภาพ การเขียนภาพระบายสีเช่นเดียวกับงานศิลปะแต่ต่างก็มีความหมายและจุดมุ่งหมายในการสร้างสรรค์แตกต่างกัน กล่าวคืองานกราฟิกในสื่อการเรียนการสอนมีวัตถุประสงค์เพื่อการสื่อความหมายและถ่ายทอดความรู้ไปสู่ผู้เรียน  ส่วนงานศิลปะ (Art) สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อความงามและความพอใจ โดยศิลปินและผู้ชมจะใช้การสื่อและเสพรสของความงามด้วยอารมณ์และความรู้สึก

          2.  คุณค่าของวัสดุกราฟิก
                                                                                                                                                                                               
                     วัสดุกราฟิกเป็นสื่อพื้นฐานที่นิยมใช้ประกอบการเรียนการสอนหรือการเผยแพร่ความรู้ทั่ว ไป  ทั้งนี้เนื่องจากวัสดุกราฟิกมีคุณค่าหลายประการดังนี้
       2.1   ราคาถูก  ครูผู้สอนสามารถผลิตได้ด้วยตนเอง
       2.2   สามารถบรรจุความรู้ไว้ในตัวมันเองและสื่อความหมายได้ทันที
      2.3   ถ่ายทอดสิ่งที่เป็นนามธรรมเป็นรูปธรรมได้ด้วยรูปภาพ  สัญลักษณ์และตัวอักษร
       2.4   เก็บรักษาง่าย  ใช้สะดวกได้สะดวก  ไม่ยุ่งยากสลับซับซ้อน
       2.5   สามารถประยุกต์ใช้ร่วมกับสื่ออื่น ๆ ได้ดี

 3.   ประโยชน์ของวัสดุกราฟิก

                  วัสดุกราฟิกทุกชนิดมีประโยชน์ต่อการเรียนการสอนดังนี้
                     3.1   ช่วยให้ผู้เรียนและผู้สอนเข้าใจเนื้อหาบทเรียนได้ตรงกัน
       3.2   ช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดีกว่าการฟังคำบรรยายเพียงอย่างเดียว
       3.3   ช่วยอธิบายสิ่งที่ยากให้เข้าใจความหมายได้ง่ายขึ้น
       3.4   ประหยัดเวลาการเรียนรู้ด้วยการแปลความหมายจากรูปภาพ และสัญลักษณ์
       3.5   รูปภาพ  สัญลักษณ์ สามารถกระตุ้นความสนใจผู้เรียนได้ดีกว่าตัวหนังสืออย่างเดียว

4.    ลักษณะของวัสดุกราฟิกที่ดี

        สื่อวัสดุกราฟิกที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
       4.1   ตรงกับเนื้อหาและวัตถุประสงค์ของบทเรียน
                       4.2 มีรูปแบบง่ายต่อการรับรู้และการทำความเข้าใจ ไม่ยุ่งยากสลับซับซ้อน สื่อความ หมายได้รวดเร็วชัดเจนทั้งรูปภาพ  สัญลักษณ์   ตัวอักษร  และถ้อยคำ                                                       
                       4.3   เน้นจุดเด่นด้วยสี  ขนาด  รูปร่าง  รูปทรง  เส้น  ทิศทาง ให้ดูแตกต่างจากข้อมูลอื่น                             4.4   มีความเป็นเอกภาพ  สอดคล้องกับทั้งเนื้อหาและรูปแบบของสื่อ
       4.5   เนื้อหาข้อมูลถูกต้อง   ประณีตสวยงาม  มีคุณค่าเชิงศิลปกรรม

5.   หลักการออกแบบวัสดุกราฟิก

                     การออกแบบวัสดุกราฟิกให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการสื่อความหมายควรยึดหลักการดังนี้
        5.1    ต้องตรงกับลักษณะของผู้เรียน  เนื้อหา  และวัตถุประสงค์ของบทเรียน
        5.2    การออกแบบวัสดุกราฟิกต้องคำนึงถึงการสื่อความหมายเป็นสำคัญ
        5.3     คำนึงถึงความเหมาะสมในการออกแบบ  การผลิต  การใช้ และการเก็บรักษา
        5.4    ออกแบบง่าย ๆ แต่สื่อความหมายดี  ไม่จำเป็นต้องแสดงรายละเอียดมากเกินไป 
                        5.5    กระบวนการออกแบบและผลิตไม่ยุ่งยากสลับซับซ้อนเกินไป  โครงสร้างโดยรวมเหมาะสมกับเนื้อหา  สอดคล้องกับสภาพสังคมและวัฒนธรรม  มีความถูกต้องตามสภาพที่เป็นจริง

6.   ข้อดีและข้อจำกัดของวัสดุกราฟิก

       สื่อวัสดุกราฟิกมีข้อดีและข้อจำกัดต่อกระบวนการเรียนการสอนและการเรียนรู้ดังนี้
       6.1   ข้อดี
                6.1.1    แสดงเนื้อหานามธรรมที่ยากต่อความเข้าใจให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
                6.1.2    ผลิตได้ง่ายไม่จำเป็นต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษมากนัก
                6.1.3    ต้นทุนการผลิตถูกกว่าสื่อประเภทอื่น ๆ
                6.1.4    ใช้งานได้สะดวกรวดเร็ว  ไม่ยุ่งยาก  เก็บรักษาง่าย
                 6.1.5     ผู้เรียนมีโอกาสร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนได้ง่าย เช่น  การทำแผนภูมิ  การจัดป้ายนิเทศ     การวาดภาพประกอบบทเรียน  เป็นต้น
         6.2   ข้อจำกัด
                  6.2.1   ใช้ได้กับกลุ่มเป้าหมายขนาดเล็กเท่านั้น
                  6.2.2    การออกแบบและการผลิตไม่ดีอาจทำให้ผู้เรียนเข้าใจยาก
                  6.2.3   วัสดุกราฟิกที่มีคุณภาพดีต้องใช้ผู้ชำนาญช่วยในการออกแบบและผลิต

             7.   ตัวอย่างสื่อวัสดุกราฟิก

                       7.1   แผนภูมิ (Charts)

                         แผนภูมิเป็นวัสดุกราฟิกที่มีองค์ประกอบเป็นสัญลักษณ์  รูปภาพ  และตัวอักษร ใช้ประกอบการบรรยาย  ชี้แจง  สรุปสาระสำคัญ  เนื้อหาที่เหมาะกับสื่อแผนภูมิได้แก่  ขั้นตอน  การเปรียบเทียบ  กระบวนการ  การแสดงความสัมพันธ์ของข้อมูลข่าวสาร
                            7.1.1   ลักษณะของแผนภูมิที่ดี
                                 แผนภูมิที่สามารถสื่อความหมายได้ดีควรมีลักษณะดังนี้
                             1)    เป็นแบบที่ง่ายและแสดงความคิดเดียว
2)      ขนาดใหญ่  อ่านง่าย  ไม่แน่นเกินไป
3)      จุดสนใจควรเน้นด้วยสี  ขนาด  รูปร่างรูปทรง
4)      ภาพประกอบต้องเหมาะสมและน่าสนใจ
5)      เนื้อหาถูกต้องตามความเป็นจริง
6)      หัวเรื่องเด่นและคำบรรยายชัดเจน
7)      มีความทนทานและสะดวกในการเก็บรักษา
            7.1.2   เทคนิคการใช้แผนภูมิ
                               การใช้แผนภูมิให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้  ควรมีวิธีการดังนี้
                               1)    แผนภูมิที่นำมาใช้ต้องตรงกับเนื้อหา
                               2)    ต้องติดตั้งหรือแขวนให้เรียบร้อยก่อนใช้งาน
                               3)    อธิบายตามลำดับขั้นอย่างต่อเนื่อง
                               4)    ขณะใช้แผนภูมิต้องหันหน้าเข้าหาผู้เรียน
                               5)    การชี้แผนภูมิควรใช้วัสดุขนาดเล็ก ไม่ควรใช้มือ
                               6)    ใช้เทคนิคการเน้นด้วยการปิด เปิด  สี  มิติ
                               7)     ควรให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการใช้แผนภูมิ
                               8)    การใช้แผนภูมิร่วมกับสื่ออื่น ๆ  จะช่วยให้เรียนรู้ได้ดีขึ้น
                7.1.3   ชนิดของแผนภูมิ
                             แผนภูมิที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนจำแนกได้เป็น  ประเภทดังนี้

1)  แผนภูมิแบบต้นไม้  (Tree Charts)  เหมาะกับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์  แสดงให้เห็นสิ่งหนึ่ง ๆ แยกออกเป็นหลายสิ่ง   หรือการจำแนกจากโครงสร้างใหญ่ไปหาองค์ประกอบย่อย เช่น  ประเภทของเครื่องดนตรี  ประเภทของการคมนาคม   อาหารหลัก 5 หมู่  เป็นต้น

2) แผนภูมิแบบสายธาร (Steam  Charts)  เหมาะกับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์  แสดงให้เห็นว่าสิ่งหนึ่งๆเกิดจากหลายสิ่งมารวมกัน  เช่น  น้ำ  ปูน  ทราย  หินรวมกันเป็นคอนกรีต เนื้อไก่ น้ำ กะทิ  มะเขือ  พริก รวมกันเป็นแกงเขียวหวาน  จะเห็นได้ว่าแผนภูมิแบบสายธารจะมีลักษณะตรงกันข้ามกับแบบต้นไม้

3)  แผนภูมิแบบต่อเนื่อง(Flow Charts) ใช้แสดงเนื้อหาที่เป็นลำดับขั้นตอนของการทำงานตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสุดท้าย เช่น  ขั้นตอนการตอนกิ่งไม้   ขั้นตอนการปฐมพยาบาล การใช้แผนภูมิแบบต่อเนื่อง
ประกอบการสาธิตจะช่วยให้ผู้เรียนเรียน รู้เนื้อหาได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

4) แผนภูมิแบบองค์การ(Organization Charts)  ใช้แสดงความสัมพันธ์ของสายงานในองค์การหรือหน่วยงานหนึ่ง ๆ ซึ่งอาจจำแนกตามตำแหน่ง  หรือกลุ่มงานก็ได้ เช่น การบริหารงานโรงเรียน   การบริหาร งานโรงพยาบาล  การบริหารงานเทศบาล  เป็นต้น

5)  แผนภูมิแบบเปรียบเทียบ (Comparison Charts) ใช้แสดงเปรียบเทียบความแตกต่างของสิ่งต่าง ๆ ทั้งด้านกระบวนการ รูปร่าง ลักษณะ เช่น ลักษณะยุงลายกับยุงก้นปล่อง   ลมบกกับลมทะเล   การขยายตัวของวัตถุที่ถูกเผากับวัตถุธรรมดา  เป็นต้น

6)  แผนภูมิแบบตาราง (Table Charts) ใช้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเวลากับเหตุการณ์  เช่น  ตารางการเดินรถ  ตารางเรียน    ตารางการแข่งขันกีฬา ตารางแสดงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในประวัติ ศาสตร์  ตารางอัตราค่าบริการ  เป็นต้น

7)  แผนภูมิแบบวิวัฒนาการ (Evolution Charts) ใช้แสดงกระบวนการหรือลักษณะการเปลี่ยนแปลงอย่างมีการพัฒนาของสิ่ง ของหรือ เหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น  วิวัฒนาการของจักรยาน วิวัฒนาการของสัตว์โลกตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบัน เป็นต้น

8) แผนภูมิแบบอธิบายภาพ (Pictorial Charts)ใช้แสดงชี้แจงความส่วนต่าง ๆ ของภาพให้เห็นชัดเจน ซึ่งอาจวางตัวหนังสือทับซ้อนภาพ หรือวางไว้นอกภาพแล้วชี้ด้วยเส้นไปยังตำแหน่งภาพที่ต้องการก็ได้ เช่น  ส่วนประกอบของเครื่องยนต์   อวัยวะภาย ในของมนุษย์  เป็นต้น

      7.2  แผนสถิติ (Graphs)

แผนสถิติเป็นวัสดุลายเส้นที่เน้นการสื่อความหมายในเชิงปริมาณและตัวเลข  แผนสถิติแต่ละเรื่องควรแจ้งที่มาของข้อมูลต่าง ๆ ให้ชัดเจนเพื่อสร้างความเชื่อถือ  และเปิดโอกาสให้ศึกษาค้นคว้าต่อไปได้ง่ายขึ้นด้วย  เนื้อหาที่เหมาะกับสื่อแผนสถิติ ได้แก่  เนื้อหาที่เป็นข้อมูลเชิงปริมาณ  การเปรียบเทียบข้อมูลลักษณะต่าง ๆ    การแสดงความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล 

               7.2.1    ลักษณะแผนสถิติที่ดี
                           แผนสถิติที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
                          1)    ต้องมีชื่อเรื่องของแผนสถิตินั้นเสมอ
                          2)    ต้องมีข้อมูล  หรือแนวคิดเพียงเรื่องเดียว
                          3)    ตัวอักษร  เส้น  สี  ต้องชัดเจนน่าสนใจ
                          4)    ข้อมูลและแหล่งที่มาของข้อมูลถูกต้อง
                          5)   ดูแล้วเข้าใจง่าย  ไม่สลับซับซ้อน
                          6)    ควรนำเสนอในลักษณะของแสดงความสัมพันธ์ของข้อมูล
                          7)    แสดงข้อมูลในลักษณะประมาณมิใช่การเน้นความละเอียดของข้อมูล

                            7.2.2.   ประโยชน์ของแผนสถิติ
                                             แผนสถิติมีประโยชน์ในกระบวนการเรียนการสอนดังนี้
                                           1)    ใช้แสดงข้อมูลของจำนวนที่มีลักษณะเป็นนามธรรมให้เข้าใจได้ง่าย
                                           2)    ช่วยให้ผู้เรียนรู้จักการอ่าน  วิเคราะห์  และสรุปข้อมูลทางสถิติได้
                                           3)    ช่วยให้ผู้เรียนจดจำเนื้อหาที่แปลงเป็นแผนสถิติได้นานขึ้น
                                           4)    ช่วยให้ผู้เรียนสามารถใช้ข้อมูลทางสถิติในการแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น
                        7.2.3  ข้อดีและข้อจำกัดของแผนสถิติ
                                            การนำแผนสถิติมาใช้ประกอบการเรียนการสอนควรคำนึงถึงข้อดีและข้อจำกัดดังต่อไปนี้
                                           7.2. 3.1   ข้อดี
                                                        1)   การแปลงข้อมูลนามธรรมเป็นรูปธรรม ทำให้เรียนรู้ง่ายขึ้น
                                          2)    ผู้เรียนสามารถเปรียบเทียบข้อมูลได้อย่างชัดเจน
                                                        3)    ผู้สอนสามารถนำเสนอข้อมูลได้หลากหลายรูปแบบ
                                                       4)   เป็นสื่อที่ผลิตง่ายทำได้ทั้งด้วยมือและใช้คอมพิวเตอร์
                                                       5)   เป็นสื่อที่ใช้ประกอบการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                                         7.2.3.2   ข้อจำกัด
                                                       1)    แผนสถิติที่ดีต้องวิเคราะห์ความสอดคล้องของเนื้อหาข้อมูลกับรูปแบบของแผนสถิติอย่างรอบคอบ  มิฉะนั้นอาจทำให้การสื่อความหมายผิดพลาดได้
                                                       2)    แผนสถิติที่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องระมัดระวังในการใช้สี  สัญลักษณ์  และข้อความกับรูปแบบของแผนสถิติเป็นอย่างดี
                                                      3)   แผนสถิติที่มีข้อมูลถูกต้องต้องได้ข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้เท่านั้น

                        7.2.4   เทคนิคการใช้แผนสถิติ
                                            การใช้แผนสถิติประกอบการเรียนการสอนมีเทคนิควิธีดังนี้
                                           1)    ผู้สอนต้องอธิบายหรือบอกผู้เรียนล่วงหน้าว่าจะใช้แผนสถิติประกอบการเรียนเรื่องอะไร  และมีวิธีอ่านข้อมูลให้ถูกต้องได้อย่างไร
                                          2)     เลือกแผนสถิติที่เหมาะสมธรรมชาติของเนื้อหาข้อมูล  และความยากง่ายที่เหมาะกับวัยหรือประสบการณ์ของผู้เรียน
                                          3)   ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการใช้แผนสถิติในกระบวนการเรียนการสอนโดยอาจเป็นการชี้  การติดตั้ง   การผลิต  ตลอดจนการอภิปรายซักถาม  และการเก็บรักษา

                7.2.5   ชนิดของแผนสถิติ
การแสดงการเปรียบเทียบหรือปริมาณของข้อมูลชุดหนึ่ง ๆ จะนำเสนอในรูปของแผนสถิติแบบใดก็ได้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของเนื้อหาข้อมูลกับลักษณะของแผนสถิติ  ซึ่งแบ่งออกเป็น  ชนิดดังนี้

            1)  แผนสถิติแบบเส้น (Line or Curve Graph) ใช้กับข้อมูลที่แสดงความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องได้ดีกว่าแบบอื่นๆการเปรียบ เทียบข้อมูลตั้งแต่ 2 ข้อมูลขึ้นไป  ควรใช้แสดงเส้นต่าง ๆ ด้วยสีที่ต่างกันจะช่วยสื่อความหมายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น การเปรียบ เทียบค่าครองชีพแต่ละเดือน  เป็นต้น

          2)  แผนสถิติแบบแท่ง (Bar Graph) เป็นแบบที่ใช้เปรียบเทียบข้อมูลด้วยการเทียบ เคียงกันเป็นคู่ ๆ หรือเป็นชุด ทำได้ง่ายและอ่านเข้าใจได้ดีกว่าทุกแบบ จึงนิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง อาจแสดงได้ทั้งแนวตั้งหรือแนวนอน  แผนสถิติแบบแท่งจะสื่อความ หมายได้ผลดีในกรณีที่ข้อมูลเปรียบเทียบไม่เกิน 4 5 ชนิดข้อมูล

           3)  แผนสถิติแบบวงกลม (Circle  or  Pie  Graph) เป็นสื่อที่สร้างความเข้าใจได้ง่าย ใช้แสดงข้อมูลเปรียบเทียบอัตราส่วนของส่วนประกอบต่าง ๆ ว่าเป็นเท่าไรของ      ปริมาณ ทั้งหมด  แผนสถิติแบบนี้มีข้อดีที่ช่วยให้มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างส่วนย่อยกับส่วนรวมได้พร้อม ๆ กัน

         4)  แผนสถิติแบบรูปภาพ(Pictorial Graph) เป็นแผนสถิติที่น่าสนใจเพราะเป็นการแปลงข้อมูลตัวเลขเป็นรูปภาพหรือสัญลักษณ์  เช่น คน  สัตว์  สิ่งของ  แผนสถิติแบบนี้แม้จะนำเสนอข้อมูลได้อย่างน่าสนใจแต่ไม่สามารถแสดงรายละเอียดของข้อ มูลได้มากนัก

        5)  แผนสถิติแบบพื้นที่ (Solid Graph) เป็นการใช้พื้นที่ในการแสดงปริมาณของข้อมูลที่ต้องการเปรียบเทียบให้ดูเข้าใจง่ายขึ้น  แผนสถิติแบบนี้ช่วยให้เห็นความสัมพันธ์ของข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว  แต่ให้รายละเอียดได้น้อยกว่าทุกแบบ  การสร้างแผนสถิติแบบพื้นที่ทำได้โดยการแบ่งพื้นที่ทั้งหมดออกเป็นส่วน ๆ ทุกส่วนเมื่อรวมกันแล้วจะมีค่าเท่ากับปริมาณรวมทั้งหมด  เช่น  การแบ่งพื้นที่ไร่นาสวนผสม  การแบ่งพื้นที่ในการปลูกบ้าน  เป็นต้น

7.2.6   การวิจัยเกี่ยวกับการใช้แผนสถิติ 

                                           วิชทิช (Wittich, 1973  p. 166) ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการใช้แผนสถิติกับกระบวนการเรียนการสอนและการสื่อความหมาย  พบว่า
                           1)    แผนสถิติแบบวงกลมดูแล้วเข้าใจเรื่องราวได้ง่ายที่สุด
                           2)   แผนสถิติแบบแท่งดูแล้วเข้าใจง่ายเป็นอันดับถัดไป
                           3)    แผนสถิติแบบเส้นช่วยให้ทราบแนวโน้มของข้อมูลได้ดีที่สุด
                           4)    แผนสถิติแบบพื้นที่ให้ความถูกต้องในการอ่านได้น้อยที่สุด
                           5)  แผนสถิติแบบแท่งหรือแบบตารางแสดงจำนวนง่าย ๆ ประกอบคำอธิบายจะได้ผลดีกว่าแสดงจำนวนเพียงอย่างเดียว
                           6)    แผนสถิติแบบตารางแสดงจำนวนที่ละเอียดมาก  แม้จะใช้ประกอบกับคำอธิบายก็ยังได้ผลน้อย
                            7)    การใช้ภาพง่าย ๆ หรือการ์ตูนประกอบลงไปในส่วนใดส่วนหนึ่งของแผนสถิติไม่ได้ช่วยให้เกิดผลในการนำเสนอข้อมูลมากนัก
                            8)    แผนสถิติรูปภาพจะมีจุดเด่นเพียงใดขึ้นอยู่กับรูปภาพหรือสัญลักษณ์ที่มาประกอบกันขึ้น และแบบที่จัดแถวรูปภาพในแนวนอนเป็นแบบที่ดีที่สุด


                  7.3   แผนภาพ (Diagrams)

            แผนภาพเป็นทัศนวัสดุอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นส่วนประกอบต่าง ๆ ของสิ่งของหรือของระบบงาน  เช่น  การทำงานของลูกสูบรถยนต์  การทำงานของเครื่องกรองน้ำ  ส่วนประกอบของดอกไม้  เป็นต้น  เนื้อหาที่เหมาะกับการนำเสนอด้วยแผนภาพ  ได้แก่  เนื้อหาที่ต้องการแสดงโครงสร้างหรือส่วนประกอบต่าง ๆ ที่อยู่ภายใน  กระบวนการ  ความสัมพันธ์ภายในที่ไม่สามารถมองเห็นได้
                  7.3.1   ลักษณะของแผนภาพที่ดี
                              แผนภาพที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนที่ดี  ควรมีลักษณะดังนี้
                             1)    มีรูปแบบง่าย ๆ แสดงแนวความคิดเดียว
                             2)    ขนาดใหญ่พอสมควร  รูปภาพ  ตัวอักษร  อ่านได้ชัดเจน
                             3)    ใช้สีแสดงความแตกต่างและความเหมือนกัน
                             4)    ควรใช้รูปภาพและสัญลักษณ์ให้มากกว่าตัวหนังสือ
               
                7.3.2   เทคนิคการนำเสนอแผนภาพ
                            การใช้แผนภาพประกอบการเรียนการสอนให้ได้ผลดีควรมีวิธีดังนี้
                           1)    การใช้แผนภาพผู้เรียนต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องนั้นมาก่อน
                           2)    แผนภาพต้องมีคำอธิบายประกอบเพื่อป้องกันการสับสนของผู้เรียน
                           3)    ควรให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการใช้แผนภาพอย่างมีความหมาย
                           4)    ควรใช้แผนภาพร่วมกับโสตทัศนูปกรณ์อื่น ๆ เช่น ภาพวีดิทัศน์  ของจริง  เป็นต้น
                           5)    ควรจัดกิจกรรมต่อเนื่องในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในแผนภาพ

                7.3.3   ประเภทของแผนภาพ
                                            แผนภาพแบ่งออกเป็น  3  ประเภท  ดังนี้
                                                 1)    แผนภาพลายเส้น  เป็นแผนภาพที่เขียนด้วยลายเส้นแบบง่าย ๆ เพื่อแทนสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้    
               เข้าใจความสัมพันธ์ในภาพรวม เหมาะสำหรับแสดงโครงสร้าง  การบอกลักษณะ  ตำแหน่ง  แสดงความสัมพันธ์
               ขององค์ประกอบต่าง ๆ   เช่น  แผนภาพลายเส้นแปลนบ้าน  แผนภาพลายเส้นกล้องถ่ายรูป  แผนภาพลายเส้น
               แผงวงจรไฟฟ้า  เป็นต้น
                         2) แผนภาพแบบรูปภาพ  เป็นการใช้ลายเส้นวาดภาพแสดงโครงสร้างทั้งภายในและภาย นอก  เพื่ออธิบายส่วนประกอบ  ความสัมพันธ์  หรือกระบวนการทำงานของวัตถุนั้น  แต่ไม่แสดงรายละเอียดของวัตถุดังกล่าว  แผนภาพแบบรูปภาพอาจเป็นภาพเดียวหรือหลายภาพแสดงการทำ งานเชื่อมโยงกันก็ได้  เช่น  การเชื่อมโยงการทำงานของกล้องถ่ายภาพดิจิตอลกับคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
                       3)   แผนภาพแบบผสม  เป็นแผนภาพที่แสดงภาพเหมือนจริงผสมผสานกับภาพลายเส้นในลักษณะของการผ่าซีก ทำให้เห็นวัตถุได้ทั้งส่วนที่เป็นภาพเหมือนจริงซึ่งกระตุ้นให้เกิดเจตคติที่ดีได้  และภาพลายเส้นซึ่งทำให้เข้าใจถึงรายละเอียดขององค์ประกอบและกระบวน การทำงานของวัตถุชิ้นนั้นได้อย่างชัดเจน

7.4   ภาพพลิก (Flip Charts)
ภาพพลิกเป็นทัศนวัสดุที่เป็นภาพชุดของภาพวาด  ภาพถ่าย  หรือแผนสถิติ นำมาเย็บเล่มรวมกันเป็นเรื่องราวเดียวกันสัมพันธ์ต่อเนื่องกันตั้งแต่ต้นจนจบ โดยทั่วไปมีประมาณ10 – 15 แผ่น  ภาพพลิกที่มีคุณภาพดีควรผนึกด้วยผ้าดิบจะทำให้ทนทานใช้งานได้สะดวกและใช้ได้นาน  การเย็บเล่มรวมกันควรแข็งแรงมั่นคงไม่หลุดหล่นจากกัน  พร้อมออกแบบห่วงสำหรับติดตั้งหรือแขวนกับขาตั้งหรือผนังห้อง

                7.4.1   ลักษณะของภาพพลิกที่ดี
                            ภาพพลิกใช้ประกอบการเรียนการสอนที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
                           1)    รูปภาพชัดเจน  เข้าใจง่าย  สื่อความหมายได้ดี  ตรงกับเนื้อหาและวัตถุประสงค์
                          2)    ควรใช้สีตัดกันอย่างเหมาะสม  ภาพสีจะช่วยดึงดูดความสนใจได้ดีกว่าภาพขาว ดำ
                                          3)    ภาพพลิกหนึ่งชุดควรเป็นเรื่องเดียวกัน  และเรียงภาพตามลำดับก่อนหลังอย่างถูกต้อง              
                                        4)    คำอธิบายควรเป็นประโยคสั้นๆ กะทัดรัด  ตัวอักษรขนาดใหญ่และเป็นรูปแบบเดียวกัน
                                        5)     ควรเย็บรวมแผ่นอย่างมั่นคง  และออกแบบสำหรับติดตั้งกับขาหยั่ง  ขาตั้ง  ที่แข็งแรง
                        6)     ควรมีบทสรุปในตอนท้ายของทุกเรื่อง

                7.4.2   เทคนิคการใช้ภาพพลิก
                                            การใช้สื่อภาพพลิกกับการเรียนการสอนที่ดีควรมีวิธีดังนี้
                                           1)    ติดตั้งภาพพลิกบนขาหยั่ง  หรือขาตั้งให้เรียบร้อยก่อนการใช้งาน
                                           2)    ขณะใช้งานควรอธิบายอย่างต่อเนื่องตามลำดับอย่างมีชีวิตชีวา
                                           3)    ขณะใช้งานอย่าบังสื่อ  ควรยืนอยู่ด้านใดด้านหนึ่งของสื่อ
                                           4)    การชี้สื่อภาพพลิกควรใช้ไม้หรือวัสดุทึบแสง  ไม่ควรใช้มือชี้
                                           5)    ภาพพลิกที่ดีควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนเรียนการสอน  อาจทำได้โดยการตั้งคำถามไว้ในภาพพลิกหลังจบเนื้อหาย่อยเป็นตอน ๆ ไป

                7.4.3  รูปแบบของภาพพลิก
                           สื่อภาพพลิกสามารถออกแบบและผลิตได้หลายรูปแบบดังนี้
                    1)    ใช้กระดาษแข็งหรือไม้อัดทำเป็นปกหน้าและปกหลัง  เวลาใช้งานตั้งแล้วกางปกทั้งสองแยกออกกลายเป็นขาตั้งไปในตัว
                          2)    ใช้กระดาษแข็ง  ไม้อัด  หรือไม้เนื้อแข็งทำเป็นขาหยั่งตั้งโต๊ะติดบานพับสามรถแยกเป็นฐานรองรับภาพได้ทั้ง 2 ชิ้น
                          3)     ทำเป็นขาหยั่งตั้งบนพื้นสูงประมาณ 1 -  1.50 เมตร  ด้านบนทำเป็นตะขอโลหะสำหรับแขวนภาพ       7.5   ภาพชุด (Flash Cards)

            ภาพชุดเป็นทัศนวัสดุที่สามารถใช้งานได้ง่ายมีขนาดเล็กกว่าภาพพลิก  ลักษณะสำคัญคือเป็นชุดของภาพที่เรียงลำดับเรื่องราวไว้แล้วเป็นขั้น ๆ เย็บรวมกันเป็นเล่ม  ในแต่ละหน้าจะมีคำบรรยายโดยด้านหลังของหน้าแรกจะเป็นคำบรรยายของภาพหน้าที่สอง  และด้านหลังหน้าที่สองจะเป็นคำบรรยายของภาพหน้าที่สาม  เป็นลำดับเช่นนี้ตลอดไปจนจบเรื่อง  ภาพชุดสามารถทำได้ง่ายเพียงใช้ภาพจากหนังสือ  นิตยสาร  วารสาร  นำมาผนึกกับกระดาษแข็งแล้วเย็บรวมเป็นเล่มก็ใช้งานได้ตามต้องการ

                  7. 6 แผ่นภาพ (Flash Cards)

            แผ่นภาพเป็นทัศนวัสดุอย่างง่าย ๆ โดยนำรูปภาพมาผนึกกับกระดาษแข็งเป็นแผ่น ๆ ไม่ต้องเย็บรวมเป็นเล่ม  รูปภาพควรมีขนาดใหญ่พอที่จะมองเห็นได้ชัดเจน  โดยปกติควรมีขนาดประมาณ  1.50 ฟุต X 2 ฟุต  อาจเป็นภาพวาด  ภาพถ่าย  ภาพพิมพ์  ก็ได้  แผ่นภาพมีประโยชน์มากในการเน้นจุดสำคัญของเนื้อหาในการบรรยาย  ทำให้ผู้เรียนเข้าใจบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น
                  7.7  ภาพโฆษณา (Posters)

            ภาพโฆษณาเป็นสื่อทัศนวัสดุที่สร้างขึ้นประกอบการเรียนการสอน  เพื่อใช้ในการกระตุ้นชักชวน  จูงใจให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ  เชื่อถือศรัทธาและนำไปสู่การแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป  การใช้ภาพโฆษณาในทางการศึกษาช่วยให้ผู้เรียนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งตามวัตถุ ประสงค์  เช่น  การเตือนให้ระวังภัยในการใช้เครื่องมือในโรงฝึกงาน  การเตือนให้ระวังภัยในการข้ามถนน  การหลีกเลี่ยงยาเสพติด  การชี้ให้เห็นภัยของสารเสพติดประเภทต่าง ๆ การจูงใจให้ช่วยกันรักษาความสะอาดในห้องเรียน อาคารเรียน บริเวณโรงเรียน การปฏิบัติตนในการซื้อและการรับประทานอาหารในโรงอาหาร  การแจ้งเหตุที่เกิดขึ้นประจำวัน    อย่างไรก็ดีโดยทั่วไปสื่อภาพโฆษณามักนิยมใช้กันมากในวงการธุรกิจการค้าทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่

                                7.7.1   ลักษณะของภาพโฆษณาที่ดี
                                         สื่อภาพโฆษณาที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
                                        1)    รูปแบบสอดคล้องกับวัตถุประสงค์   เนื้อหา   และกลุ่มเป้าหมาย
                                        2)    ต้องนำเสนอข้อมูลหรือแนวคิดเพียงเรื่องเดียว
                                        3)    เด่นมองเห็นสะดุดตา  เร้าความสนใจ  ชวนให้ติดตาม
                                        4)    สื่อความหมายได้รวดเร็ว  และตรงประเด็น
                                        5)    แสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ดูสวยงาม  แปลกหูแปลกตา

                        7.7.2  รูปแบบของภาพโฆษณา
                                        ภาพโฆษณามีรูปแบบแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์หรือขั้นตอนตามแผนในการใช้งาน  สามารถจำแนกได้  3  รูปแบบ  ดังนี้
                                        1)  ภาพโฆษณาขั้นบุกเบิก  (Pioneering  Stage) ใช้ในการเสนอแนวคิด  ปัญหา  สาเหตุของสิ่งของ  เหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นครั้งแรก  รูปแบบของภาพโฆษณาแบบนี้มีลักษณะสร้างความเชื่อถือและยอมรับด้วยการนำเสนอรายละเอียดของข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักวิชา การสามารถอ้างอิงได้ แนะนำให้ผู้อ่านหรือผู้เรียนได้รู้จักและคุ้นเคยกับเนื้อหาข้อมูลใหม่ อาจกล่าวถึงเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์แหล่งกำเนิดอันทรงคุณค่า ชี้ให้เห็นประโยชน์และคุณค่าในการปฏิบัติตาม
                                       2)   ภาพโฆษณาขั้นการแข่งขัน (Competitive  Stage) ใช้ในการกระตุ้นเร่งเร้าให้ปฏิบัติตามอย่างทันทีทันใด  หากเป็นภาพโฆษณาทางธุรกิจการค้าจะเสนอให้กลุ่มเป้าหมายเห็นว่าสินค้าที่นำเสนอดีกว่าสินค้าประเภทเดียวกันอย่างไร รูปแบบของภาพโฆษณาแบบนี้จะเน้นการใช้คำเปรียบเทียบ (comparison phase) เช่น  ดีกว่า   สวยกว่า  ทนทานกว่า  ใช้ได้ผลกว่า  ฯลฯ  ในทางการศึกษาชี้ให้ผู้เรียนเห็นว่าการปฏิบัติตามคำเชิญชวน จะได้ประโยชน์ต่อตนเองและส่วน รวมมากกว่า เช่น ห้องเรียนที่สะอาดย่อมทำให้สุขภาพจิตดีกว่าห้องเรียนสกปรกขาดความเป็นระเบียบ   ความซื่อสัตย์ทำให้สุขภาพจิตดีมีมิตรมากมายกว่าความไม่ซื่อตรง  เป็นต้น
                                       3)  ภาพโฆษณาขั้นการตอกย้ำ (Retentive  Stage) ใช้ในการย้ำเตือนให้จดจำและกระทำในสิ่งที่เชิญชวนนั้นอย่างสม่ำเสมอตลอดไป  โดยใช้รูปภาพ  สัญลักษณ์  หรือข้อความสั้น ๆ อาจเป็นปริศนาคำถาม  คติคำคมที่มีความหมายกินใจ  ทำให้ผู้เรียนจำได้อย่างขึ้นใจพูดได้ติดปาก  เช่น เป๊ปซี่ดีที่สุด   ผู้จัดการเปลี่ยนไป    เพื่อนคูคิดมิตรคู่บ้าน  เป็นต้น

                  7.8   แผ่นโปร่งใส (Transparencies)

            แผ่นโปร่งใสเป็นทัศนวัสดุประเภทวัสดุฉาย ทำด้วยแผ่นอาซีเตท (acetate) ใช้กับเครื่องฉายข้ามศีรษะ (overhead  projector) นิยมใช้ประกอบการบรรยายหรือถ่ายทอดความรู้ไปสู่ผู้เรียน เป็นสื่อที่ผลิตได้ง่าย  ใช้สะดวกยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม  สีสันสวยงาม  ขณะใช้แผ่นโปร่งใสผู้สอนจะหันหน้าเข้าหาผู้เรียนเสมอ  ทำให้สามารถควบคุมชั้นเรียนไปในตัวได้เป็นอย่างดี

                            7.8.1   ลักษณะแผ่นโปร่งใสที่ดี
                                        แผ่นโปร่งใสที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
                                       1)    แผ่นโปร่งใสหนึ่งแผ่นควรมีเนื้อหาเดียว  แนวคิดเดียว
                                       2)    เนื้อหาข้อความถูกต้อง  มองเห็นได้ชัดเจนในระยะไกล
                                       3)    ไม่ควรเขียนตัวหนังสือด้วยเส้นสีเหลืองและสีส้ม จะทำให้อ่านไม่ออก
                                       4)    ควรเขียนแผ่นโปร่งใสไว้ล่วงหน้าจะทำให้ประหยัดเวลา
                                       5)    องค์ประกอบต่าง ๆ ควรเขียนอยู่ในพื้นที่ประมาณ 7.50 นิ้ว x 9.50 นิ้ว
                                       6)    เนื้อหาที่ใช้สอนอยู่เป็นประจำควรเขียนแผ่นโปร่งใสด้วยปากกาเขียนชนิดถาวร  แล้วเก็บเรียงลำดับไว้ในแฟ้มเป็นเรื่อง ๆ

                                7.8.2   หลักการออกแบบแผ่นโปร่งใส
                การออกแบบแผ่นใสให้สวยงามและสื่อความหมายได้ถูต้องควรยึดหลักการดังนี้
                                        1)   ความง่าย (Simplicity) แผ่นโปร่งใสที่ดีควรมีลักษณะเข้าใจง่าย  ไม่ยุ่งเหยิงสลับซับ ซ้อน  ข้อความสั้น ๆ ไม่มีรายละเอียดเพราะใช้ประกอบการบรรยายอยู่แล้ว
                                        2)    ความมีเอกภาพ (Unity) มีลักษณะเป็นหน่วยเดียวกัน  ส่วนประกอบต่าง ๆ ทั้งตัวอักษร  รูปภาพ  สี  เส้น  มีความสัมพันธ์กันสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
                                        3)    การเน้น (Emphasis)  การออกแบบแผ่นโปร่งใสให้มีจุดเด่น  โดยเน้นด้วยลักษณะตัวอักษร   สี   รูปภาพประกอบ   เส้น  ลูกศร 
                                        4)    ความสมดุล (Balance)  เป็นการออกแบบให้แผ่นโปร่งใสให้มีลักษณะสมดุลกันไม่หนักไปด้านใดด้านหนึ่ง  จะช่วยให้ดูสบายตา

                                7.8.3   เทคนิคการใช้แผ่นโปร่งใส
                                         การใช้แผ่นโปร่งใสประกอบการเรียนการสอนให้ได้ผลดีควรมีวิธีดังนี้
                                        1)    ควรเรียงลำดับแผ่นโปร่งใสให้เรียบร้อยก่อนการใช้งาน
                                        2)    ควรศึกษาและทดสอบเครื่องฉายก่อนใช้งานจริงทุกครั้ง
                                        3)    ขณะใช้แผ่นโปร่งใสควรใช้ปากกาชี้ที่แผ่นโปร่งใส  อย่าเดินไปชี้ที่จอ
                                        4)    ควรปิดข้อความที่ยังไม่ได้อธิบายและค่อย ๆเปิดทีละน้อยขณะอธิบาย
                                        5)    ทุกครั้งที่เปลี่ยนแผ่นโปร่งใสให้ปิดสวิตช์ ไฟก่อน เมื่อวางแผ่นโปร่งใสใหม่แล้วจึงเปิดสวิตช์ไฟอีก

                                7.8.4   วิธีผลิตแผ่นโปร่งใส
                                         การผลิตแผ่นโปร่งใสเพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอนหรือการถ่ายทอดความรู้สามารถทำได้หลายวิธีดังนี้
                                        1)  วิธีเขียนลงบนแผ่นโปร่งใสโดยตรง (handmade transparency) เป็นวิธีที่ง่ายสะดวกและลงทุนน้อยที่สุด  ปากกาที่ใช้เขียนมี 2 ชนิด คือ  ชนิดถาวร(permanent)  และชนิดชั่วคราว(non–permanent, soluble, washable)  มีเส้นหลายขนาด เช่น ขนาดเล็ก (F= Fine, S=Slim) ขนาดกลาง(M=Medium) ขนาดใหญ่ (L=Large) การวาดภาพประกอบสามารถทาบแบบจากสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ได้ตามต้องการ  ส่วนตัวอักษรต้องใช้ลายมือที่สวยงามและอ่านง่ายพอสมควร
                                       2)   วิธีถ่ายด้วยเครื่องถ่ายเอกสาร (xerographic  transparency) เป็นวิธีง่ายและสะดวกอีกวิธีหนึ่ง  โดยนำต้นฉบับข้อความ  รูปภาพ  สัญลักษณ์  จากสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ มาจัดองค์ประกอบใหม่บนกระดาษที่มีขนาดเท่ากับแผ่นโปร่งใส  แล้วนำไปถ่ายเอกสารลงบนแผ่นโปร่งใส   จากนั้นอาจนำมาตกแต่งสีให้สวยงามได้ตามต้องการ  อนึ่งแผ่นโปร่งใสที่สามารถถ่ายเอกสารต้องเป็นชนิดทนความร้อนสูง  สังเกตจากแผ่นบาง  พื้นผิวเรียบไม่เป็นคลื่น  เสียงแหลมเมื่อสะบัดให้เกิดเสียง  หากเป็นแผ่นโปร่งใสชนิดทนความร้อนต่ำจะไหม้ละลายติดภายในเครื่องถ่ายเอกสารทำให้เสียหาย
                                      3)  วิธีทำผลิตด้วยคอมพิวเตอร์ (computer  transparency) แผ่นโปร่งใสที่ออกแบบและผลิตด้วยคอมพิวเตอร์จะมีลักษณะคมชัดสวยงาม สามารถบรรจุภาพเหมือนจริงได้อย่างง่ายดาย การออกแบบต้นฉบับในคอมพิวเตอร์เราสามารถใช้ซอฟท์แวร์ได้หลายโปรแกรม เช่น Microsoft  Word,  PowerPoint,  Excel,  PageMaker,  PhotoShop  เป็นต้น  การพิมพ์ต้นฉบับลงแผ่นโปร่งใสทำได้ 2 วิธีคือ การพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์เลเซอร์ จะได้ภาพขาว ดำ แผ่นโปร่งใสที่นำมาพิมพ์ต้องเป็นชนิดทนความร้อนสูง  และการพิมพ์ด้วยเครื่องหมึกพ่นจะได้ภาพสีสวยงาม  แต่แผ่นโปร่งใสสำหรับการพิมพ์ด้วยวิธีนี้เป็นชนิดพิเศษเฉพาะราคาค่อนข้างสูง

สื่อวัสดุ 3 มิติ

            1.   ความหมายของสื่อวัสดุ  3  มิติ  

                สื่อวัสดุ 3 มิติ หมายถึง สื่อที่มีความกว้าง  ยาว  หนาหรือลึก  สามารถรับรู้ได้หลายมุมมองและรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสหลายทาง   การตั้งแสดงวัสดุ 3 มิติที่มีขนาดเล็กทำได้สะดวกและอิสระ อาจใช้ร่วมกับสื่อวัสดุอื่น ๆก็ได้
                     
            2.  ตัวอย่างสื่อวัสดุ 3  มิติ

                      2.1  หุ่นจำลอง (Models)

                  หุ่นจำลองเป็นทัศนวัสดุชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นเพื่อเลียนแบบของจริงมีลักษณะเป็น  3  มิติ แสดงสัดส่วนและสีสันเหมือนของจริงทุกประการ ใช้ในการถ่ายทอดความรู้ทดแทนของจริงในกรณีที่ของจริงมีข้อจำกัดไม่สามารถนำมาแสดงได้  เช่น  การแสดงโครงสร้างลี้ลับซับซ้อนภายใน  ของจริงบางอย่างมีขนาดเล็กหรือใหญ่เกินไป    บางอย่างมีอันตราย   อยู่ไกลเกินไป  บางอย่างสูญหายไปในอดีต  สื่อหุ่นจำลองจึงมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนหลายประการ

                                2.1.1   ลักษณะของหุ่นจำลองที่ดี
                                        หุ่นจำลองที่ดีสามารถนำมาใช้ประกอบการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพควรมีลักษณะดังนี้
                                       1)    มีลักษณะ  สัดส่วน รูปร่าง  สีสัน  เหมือนของจริงทุกประการ
                                   2)    ตรงจุดมุ่งหมาย  เนื้อหา และธรรมชาติของผู้เรียน
                                   3)    มีขนาดเหมาะสมกับการนำมาใช้ประกอบการเรียนการสอน
                                       4)    มีความแข็งแรงทนทาน  ดูแลรักษาได้ง่าย
                                       5)    ควรใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง

                                2.1.2   เทคนิคการนำเสนอหุ่นจำลอง
                                        การใช้หุ่นจำลองประกอบการเรียนการสอนให้ได้ผลดีควรมีเทคนิคดังนี้
                                       1)    เลือกให้ตรงกับจุดมุ่งหมายของเนื้อหาและสภาพการเรียนการสอน
                                       2)    ต้องศึกษาหุ่นจำลองนั้นอย่างชัดเจนก่อนการนำเสนอ
                                       3)    ขณะนำเสนอต้องให้ผู้เรียนมองเห็นหุ่นจำลองอย่างทั่วถึง
                                       4)    การอธิบายประกอบจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น
                                       5)    การนำเสนอหุ่นจำลองแต่ละชนิดต้องบอกขนาดของจริงเสมอ
                                       6)    ควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการใช้สื่อขณะทำการสอน
                                       7)    การใช้หุ่นจำลองร่วมกับสื่ออื่น ๆ จะช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

                                2.1.3   ประเภทของหุ่นจำลอง
                                         หุ่นจำลองที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนมีหลายประเภทดังนี้
                                        1)    หุ่นจำลองแสดงรูปทรงภายนอก (solid  models)  แสดงรูปลักษณะของจริง ซึ่งอาจมีขนาดใหญ่กว่า เล็กกว่าหรือเท่ากับของจริงก็ได้ เช่น  แมลง ลูกโลก  ผลไม้ เป็นต้น
                                        2)    หุ่นจำลองแบบผ่าซีก (cutaway  models) แสดงลักษณะภายในของวัตถุสิ่งของ  คน  สัตว์  เช่น  เครื่องยนต์ผ่าซีก  ฟันผ่าซีก  ลูกตาผ่าซีก  เป็นต้น
                                        3)    หุ่นจำลองแบบแยกส่วน (build - up  models) ใช้แสดงรูปร่างลักษณะและตำแหน่งของส่วนประกอบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  สามารถถอดประกอบได้  เช่น หุ่นจำลองแสดงอวัยวะภายในของคน   หุ่นจำลองแสดงโครงสร้างภายในของสัตว์  เป็นต้น
                                       4)    หุ่นจำลองแบบเคลื่อนไหวทำงานได้ (working  models)  แสดงลักษณะการทำงานแบบง่าย ๆ ของเครื่องใช้  เครื่องจักรกล  ให้เห็นกระบวนการทำงานคล้ายของจริง  เช่น  หุ่นจำลองแสดงการทำงานของเครื่องยนต์  เครื่องจักรไอน้ำ  เครื่องกำเนิดไฟฟ้า  เป็นต้น

                  2. 2   ของจริง (Real  Objects)

                  ของจริง หมายถึง สิ่งเร้าต่าง ๆ ที่มีสภาพเป็นของเดิมแท้ ๆ ของสิ่งนั้น อาจเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติหรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และอาจเป็นได้ทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต  ผู้เรียนสามารถรับรู้และเรียนรู้ของจริงได้ด้วยประสาทรับสัมผัสทั้ง 5 ทำให้สามารถมองเห็น  ได้ยิน  ได้กลิ่น  ได้ลิ้มรส และได้สัมผัสกับบรรยากาศของของจริงด้วยตนเอง ดังนั้นสื่อประเภทของจริงจึงมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยการแสดงสาระที่เป็นจริงได้ดีกว่าหุ่นจำลอง  แต่อย่างไรก็ตามสื่อของจริงบางอย่างก็ไม่เหมาะที่จะนำมาให้ดูกันได้  หากสิ่งนั้นมีขนาดเล็กหรือใหญ่เกินไป  อยู่ไกลเกินไป  หรือสิ่งนั้นเป็นของจริงที่มีอันตราย

                                2.2.1   ลักษณะของของจริงที่ดี
                                        ของจริงที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
                                       1)    มีขนาดเหมาะสมกับสภาพการเรียนการสอน
                                       2)    มีสภาพเป็นจริงตามธรรมชาติหรือต้นกำเนิด
                                       3)    ต้องไม่เป็นอันตรายต่อผู้เรียน  ผู้สอน  และสิ่งแวดล้อม
                                       4)    ไม่มีลักษณะยุ่งยากสลับซับซ้อนเกินไป
                                       5)    สะดวกและปลอดภัยในการใช้เพื่อการเรียนรู้
                                       6)    ค่าใช้จ่ายไม่สูงเกินไป

                                2.2.2   ประเภทของของจริง
                                        ของจริงที่นำมาใช้ประกอบการเรียนการสอนแบ่งออกเป็น  3  ลักษณะคือ
                                        1)    ของจริงตามสภาพเดิม (Unmodified  Real  Objects) เป็นของจริงที่ยังรักษาสภาพที่เป็นจริงแบบเดิม ๆ ทุกอย่าง  อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นก็ได้
                                        2)   ของจริงแปรสภาพ (Modified  Objects) เป็นของจริงที่ถูกเปลี่ยนสภาพจากลักษณะเดิม  เช่น การใช้สีทาระบายเพื่อแสดงความแตกต่างอย่างชัดเจน  การเสริมวัสดุให้แข็งแรงขึ้น
                                        3)  ของตัวอย่าง (Specimens) เป็นของจริงถูกนำมาเสนอเพียงบางส่วนของทั้งหมด เช่น ดินมีหลายชนิดแต่นำมาแสดงให้เป็นตัวอย่างเพียง 2 ชนิด   หินบนดวงจันทร์มีหลายชนิดหลายลักษณะแต่เก็บมานำเสนอเพื่อเป็นตัวอย่างเพียงชนิดเดียว  เป็นต้น

                                2.2.3   เทคนิคการใช้สื่อของจริง
                                         การใช้สื่อของจริงให้ได้ผลดีควรมีเทคนิควิธีดังนี้
                                        1)    ของจริงนั้นต้องตรงกับวัตถุประสงค์  เนื้อหา  และธรรมชาติของผู้เรียน
                                    2)    เตรียมความรู้  พร้อมคำถามเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้
                                       3)    ขณะใช้สื่อของจริงควรให้ผู้เรียนมองเห็นได้อย่างทั่วถึง
                                       4)    หากมีรายละเอียดที่ผู้เรียนสงสัยต้องอธิบายให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง
                                       5)    ควรให้ผู้เรียนได้รับรู้และเรียนรู้ด้วยประสาทสัมผัสหลาย ๆ ทาง
                                       6)   ใช้เครื่องมือช่วยในการสังเกต เช่น ไฟฉาย  ไม้ชี้  สี  แสง  เป็นต้น
                                       7)    การใช้สื่อของจริงร่วมกับสื่ออื่น ๆ จะช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

                  2.3  ป้ายนิเทศ (Bulletin  Boards)

                   ป้ายนิเทศเป็นทัศนวัสดุที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับสื่อทัศนวัสดุอื่น ๆ ใช้แสดงเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยวัสดุหลายชนิด เช่น รูปภาพ แผนภูมิ  ข้อความอธิบายภาพ  รวมทั้งวัสดุ 3 มติ  ของจริง  หุ่นจำลอง  เพื่อถ่ายทอดเนื้อหาความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง  นอกจากนี้ป้ายนิเทศยังใช้เป็นป้ายประกาศ  ป้ายประชาสัมพันธ์  การแสดงผลงานของหน่วยงาน   ป้ายนิเทศเป็นสื่อที่มีคุณค่าต่อการเรียนการสอนสามารถส่งเสริมผู้เรียนให้ทำงานเป็นหมู่คณะได้ดี  กระตุ้นการรับรู้ได้ในระยะ ไกลพอสมควร  สามารถใช้กับกระบวนการเรียนการสอนได้ทุกขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นขั้นการนำเข้าสู่บทเรียน  ขั้นการสอนเนื้อหา  และขั้นสรุปบทเรียน

                                2.3.1   ลักษณะของป้ายนิเทศที่ดี
                                         ป้ายนิเทศที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
                                         1)    มีเนื้อหา  แนวคิดเดียว  และตรงกับวัตถุประสงค์
                                         2)    มีจุดสนใจหลักเพียงจุดเดียว  นอกนั้นเป็นจุดสนใจรอง
                                         3)    ดึงดูดความสนใจด้วยข้อความ  รูปภาพ  และองค์ประกอบศิลป์
                                         4)    ใช้วัสดุในการจัดแสดงได้เหมาะสมกับเนื้อหาและวัตถุประสงค์
                                         5)    เนื้อหา แนวคิด  และองค์ประกอบต้องมีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน
                                         6)    ป้ายนิเทศต้องเน้นให้ผู้ชมหรือผู้เรียนเกิดความคิดอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมสิ่งแวดล้อม


                                2.3.2   ส่วนประกอบของป้ายนิเทศ
                                        โดยทั่วไปป้ายนิเทศจะประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ ๆ ดังนี้
                                        1)    ชื่อเรื่อง  มีลักษณะเป็นข้อความสั้น ๆ อ่านง่าย มองเห็นได้ในระยะไกล
                                        2)    รูปภาพ หรือสัญลักษณ์  ควรมีขนาดใหญ่เหมาะกับพื้นที่ของป้ายนิเทศ
                                        3)    ข้อความเนื้อหา  ข้อความอธิบายภาพ  คำเชิญชวน  แนะนำ  ย้ำเตือน
                                        4)    หากเนื้อหาที่มีรายละเอียดมากควรมีแผ่นพับหรือจุลสารประกอบ
                                        5)    วัสดุตกแต่งเพื่อให้ป้ายนิเทศดูสวยงาม  แปลกตา  น่าสนใจ

                                2.3.3   การวางแผนในการจัดป้ายนิเทศ
                                         การจัดป้ายนิเทศให้ประสบผลสำเร็จดีควรมีการวางแผนดังนี้
                                        1)    ตั้งวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนว่า  เรื่องอะไร  ใครดู  ที่ไหน  เมื่อใด 
                                        2)    กำหนดเนื้อหาว่า  ควรมีความยากง่ายเพียงใด  จะมีรูปภาพอะไรบ้าง
                                        3)     ออกแบบ  ใช้หลักการเด่น  สวยงาม  และสื่อความหมายดี
                                        4)    รวบรวมข้อมูล  รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ตามที่ได้ออกแบบไว้
                                  5)    ดำเนินการจัดองค์ประกอบตามแบบที่ร่างไว้  และตกแต่งให้สวยงาม
                                        6)    ประเมินผล  ด้วยการสังเกต  การใช้แบบสอบถาม และการร่วมกิจกรรมที่กำหนดขึ้น

                   2.4   ตู้อันตรทัศน์ (Diorama)

                            ตู้อันตรทัศน์เป็นทัศนวัสดุที่ออกแบบเป็นสื่อ 3 มิติเลียนแบบธรรมชาติ  กระตุ้นความสนใจได้ดีด้วยลักษณะเป็นฉากที่มีความลึกคล้ายกับของจริง  วัสดุประกอบฉากสอดคล้องเป็นเรื่องเดียว กัน  สีสันเหมือนจริง  เช่น  ฉากใต้ทะเลมีฉากหลังเป็นสีน้ำเงิน  พื้นเป็นทรายและโขดหินปะการัง แวดล้อมด้วยหอย  ปู  ปลา  รวมทั้งสัตว์และพืชใต้ทะเล    ส่วนฉากเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าอาจมีฉากเป็นภูเขา  น้ำในเขื่อน  สันเขื่อน  โรงผลิตกระแสไฟฟ้า   ทางระบายน้ำ  เป็นต้น

สื่อวัสดุอิเล็กทรอนิคส์ (Electronic Material Media)
 
                เป็นที่ยอมรับกันว่าปัจจุบันสื่อประเภทอิเล็คทรอนิคส์ได้เข้ามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์และสังคมแทบทุกสาขาอาชีพไม่ทางตรงก็ทางอ้อมไม่ว่าจะเป็นสื่อทางภาพและเสียง เช่น วีซีดี (VCD)  ดีวีดี (DVD)  ดีวีฟอร์แม็ต (DV Format) เอ็มเพ็ค (MPEC) ฯลฯ  ดังนั้นเพื่อให้ครูผู้สอนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สื่ออิเล็กทรอนิคส์ได้คุ้นเคยกับวัสดุดังกล่าว  จึงเสนอเนื้อหาพอสังเขปเพื่อเป็นพื้นฐานเบื้องต้นในการใช้งานและการศึกษาค้นคว้าในขั้นสูงต่อไป

          1.  แผ่นซีดี

                                แผ่นซีดี ( Compact  Disc)  เป็นวัสดุพลาสติกบาง ๆ มีลักษณะเป็นแผ่นแบนกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 และ 12 เซ็นติเมตร สามารถบรรจุข้อมูลได้ตั้งแต่  680 700 เมกะไบต์ และเล่นได้นาน  74 80 นาที  ผิวหน้าเคลือบด้วยวัสดุสะท้อนแสงเพื่อป้องกันความปลอดภัยให้กับข้อมูลที่บันทึกไว้ เดิมแผ่นซีดีถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในการบันทึกเสียงเพลงเท่านั้น  แต่ปัจจุบันสามารถบันทึกข้อมูลได้อย่างมหาศาลทั้งที่เป็นภาพและเสียงด้วยระบบดิจิทัลที่สลับซับซ้อน ซึ่งเป็นความ สามารถด้านเทคนิควิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง   การบันทึกและการอ่านข้อมูลด้วยแสงเลเซอร์มีหลายวิธี จึงเป็นเหตุทำให้แผ่นวัสดุซีดีมีชื่อเรียกแตกต่างกันตามระบบของการบันทึกและการอ่านข้อมูล เช่น วีซีดี   ดีวีดี   เอสวีซีดี   เอ็กซ์วีซีดี   เอ็กซ์เอสวีซีดี  เป็นต้น 
                การบันทึกแผ่นซีดีวิธีหนึ่งที่มีมาตรฐานสูงคือวิธีการบีบอัดข้อมูลที่เรียกว่า เอ็มเพค        
                เอ็มเพ็ก (MPEC ย่อมาจาก The  Moving  Picture  Experts  Group) เป็นมาตรฐานการบีบอัดข้อมูลที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์โดยเฉพาะ  โดยการใช้ระบบ  DCT หรือ  Discrete  Cosine  Transform มาตรฐาน  MPEG  ที่ใช้สำหรับแผ่นบันทึกภาพยนตร์มี  มาตรฐาน  คือ  MPEG1 ใช้กับสัญญาณภาพที่มีความคมชัด 360X 240   จุด และ MPEG2 ใช้กับสัญญาณภาพคุณภาพสูงกว่าที่มีความคมชัด 720X480 จุด มีวิธีการเข้ารหัสและบีบอัดข้อมูลคือ ก่อนที่คอมพิวเตอร์จะคำนวณผลเพื่อแทนค่าจุดสีต่าง ๆ ในการบีบอัดข้อมูล  คอมพิวเตอร์จะแบ่งภาพบนหน้าจอออกเป็นหลาย ๆ ส่วน   การคำนวณเพื่อการบีบอัดข้อมูลจะไม่คำนวณจากภาพใดภาพหนึ่งเพียงภาพเดียว  แต่จะดูล่วงหน้าไปอีกหลาย ๆ ภาพ เป็นกลุ่ม ๆ ไป  แล้วทำการคำนวณล่วงหน้าว่า  ภาพในแต่ละส่วนของเฟรมและภาพในเฟรมต่อ ๆ ไปว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ไหน  และจะทำการบีบอัดข้อมูลของภาพที่จุดไหนของเฟรม  ด้วยวิธีนี้จึงทำให้ระบบการบีบอัดข้อมูลมีประสิทธิภาพมากที่สุดทำให้ได้แผ่นวีซีดีที่มีคุณภาพสูง

            2.  แผ่นวีซีดี

            แผ่นวีซีดี (VCD: Video Computer Disc) เป็นวัสดุอิเล็กทรอนิกส์ที่บันทึกและอ่านข้อมูลด้วยแสงเลเซอร์ มีลักษณะทางกายภาพเหมือนแผ่นซีดีทั่วไปทุกประการ เพียงแต่แผ่นวีซีดีสามารถบันทึกข้อมูลที่เป็นภาพยนตร์พร้อมเสียงสเตอริโอได้ถึง 1.44 ล้านบิตต่อวินาที (Mbps) การบันทึกใช้วิธีการบีบอัดข้อมูลโดยใช้มาตรฐาน MPEC ทำให้สามารถบันทึกและข้อมูลภาพยนตร์ที่มีความยาวมาก ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เช่น ภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ๆ อาจมีความยาวประมาณตั้งแต่  100 133  นาที  ปัจจุบันแผ่นวีซีดีจึงได้รับความนิยมสูงทั้งวงการธุรกิจบันเทิงและวงการการศึกษา  เช่น  ภาพยนตร์เพื่อความบันเทิง ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับสัตว์  ธรรมชาติ  ศิลปะ การสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ

            3.  แผ่นดีวีดี

แผ่นดีวีดีหรือแผ่นดิจิทัลวีดิทัศน์ (Digital  Video  Disc)เป็นแผ่นวีดิทัศน์ที่มีความคมชัดเทียบเท่าหรือดีกว่าแผ่นเลเซอร์วิดีโอดิสก์ (Laser  Videodisc) แผ่นดีวีดีจะบันทึกข้อมูลด้วยระบบดิจิทัลและมีลักษณะทางกายภาพเช่นเดียวกับแผ่นซีดี  แต่ต่างกันตรงที่สามารถบรรจุข้อมูลได้ตั้งแต่  4.7-1.7 จิกะไบต์  จึงทำให้แผ่นดีวีดีหนากว่าแผ่นซีดีเล็กน้อย  สามารถบันทึกข้อมูลได้ทั้งแบบด้านเดียว / ชั้นเดียวไปจนถึงแบบบันทึกสองด้าน / สองชั้น
แต่เดิมแผ่นดีวีดีมีชื่อเต็มว่า “Digital  Video Disc”  ทั้งนี้เนื่องจากผลิตมาใช้เป็นแผ่นบันทึกภาพยนตร์เพื่อความบันเทิง  แต่ต่อมามีการนำแผ่นดีวีดีมาใช้บันทึกข้อมูลรูปแบบอื่น ๆ ทั้งตัวอักษร  ภาพ และเสียง  เพื่อใช้กับคอมพิวเตอร์  จึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อเต็มว่า “ Digital Versatile Disc”   หรือแปลเป็นไทยว่า  แผ่นดิจิทัลอเนกประสงค์
การบันทึกข้อมูลในลักษณะภาพและเสียงบนแผ่นดีวีดีจะเป็นการบันทึกตามมาตรฐาน  MPEG2   ที่ให้สัญญาณภาพคุณภาพสูงความคมชัด  720 X 480  จุด  เสียง  Dolby  Digital “AC-3” 5.1 แชนเนล  ซึ่งให้ภาพคมชัดกว่าวิดีโอและเสียงหลายทิศทาง    แผ่นดีวีดีที่ใช้กับเครื่องเล่นดีวีดีจะเป็นแผ่นภาพยนตร์หลากหลายรูปแบบทั้งภาพยนตร์เพื่อความบันเทิงที่ฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วไป และภาพยนตร์เพื่อความรู้ 



          4.   แผ่นเอสวีซีดี

            แผ่นเอสวีซีดี (SVCD : Super VCD)  เป็นแผ่นที่มีคุณลักษณะเพิ่มเติมจากแผ่นวีซีดี พัฒนาขึ้นโดยคณะผู้วิจัยและผู้ผลิตที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน  โดยอาศัยเทคโนโลยีของแผ่นดีวีดี  แผ่นเอสวีซีดีเป็นแผ่นที่ใช้มาตรฐาน MPEG2  ที่มีความคมชัดภาพ  576X480 จุดและเสียงสเตริโอ  ช่องทางของ MPEG2 Audio Layer2  ซึ่งมีอัตราส่วนการบีบอัด 1:6 – 1:8 เอสวีซีดีแผ่นหนึ่งจะเล่นได้ประมาณตั้งแต่  35-80 นาที  แล้วแต่แผ่นซีดีว่าใช้ขนาด  680-700  เมกะไบต์  ทำให้ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งต้องใช้ถึง 2-3 แผ่น การบันทึกแผ่นเอสวีซีดีจะมีคุณภาพของภาพและเสียงดีกว่าแผ่นวีซีดีและแถบวีดิทัศน์ และสามารถบรรจุกราฟิกเพื่อเสนอเป็นข้อความบรรยายได้ด้วย

          5.  แผ่นเอ็กซ์วีซีดี

แผ่นเอ็กซ์วีซีดี (XVCD : eXtended VCD) เป็นส่วนขยายของแผ่นวีซีดี รุ่น 2.0 อาจกล่าว ได้ว่าเอ็กวีซีดีเป็นการผสมคุณลักษณะระหว่างวีซีดี  รุ่น  2.0 และดีวีดี  โดยที่แผ่นเอ็กวีซีดีจะมีอัตราการเสนอภาพ 3.5 ล้านบิตต่อวินาที ซึ่งเร็วกว่าแผ่นวีซีดีธรรมดา  แต่ไม่สามารถใช้เสียงหลายช่องทาง (multi – audio streams)   หรือมีข้อความบรรยายได้

6.  แผ่นเอ็กซ์เอสวีซีดี

แผ่นเอ็กซ์เอสวีซีดี (XSVCD : eXtended SVCD)  เป็นการผสมคุณลักษณะระหว่างเอ็กซ์วีซีดีและดีวีดี  แผ่นวีซีดีรูปแบบนี้ใช้ MPEG2  เช่นเดียวกับเอสวีซีดีแต่จะมีอัตราการเสนอภาพเร็วถึง  9.8  ล้านบิตต่อวินาทีโดยมีความคมชัดของภาพมากกว่าด้วย  สามารถใช้เสียงหลายช่องทางและมีข้อความบรรยายได้
แผ่นวีซีดีคุณภาพสูงทั้งเอสวีซีดี  เอ็กซ์วีซีดี  และเอ็กซ์เอสวีซีดี ไม่สามารถเล่นกับเครื่องเล่นวีซีดีธรรมดาได้  แต่ต้องใช้กับรุ่นที่เล่นได้ตั้งแต่แผ่นวีซีดี  รุ่น  2.0  ขึ้นไป หรือจะเล่นกับเครื่องดีวีดีก็ได้เช่นกัน



สรุป

                สื่อประเภทวัสดุ  เป็นสื่อที่มีขนาดเล็กสามารถเก็บบรรจุความรู้และประสบการณ์ไว้เป็นอย่างดี  บางชนิดสามารถสื่อความหมายหรือถ่ายทอดความรู้ได้ด้วยตัวมันเองโดยไม่ต้องอาศัยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด ๆ เข้ามาช่วย  แต่บางชนิดต้องอาศัยเครื่องมือในการฉายขยายเนื้อหาความรู้ให้เห็นเป็นภาพขนาดใหญ่หรือให้เสียงดังฟังชัดขึ้น  แบ่งออกเป็นวัสดุ 2 มิติ  วัสดุ 3 มิติ  และวัสดุอิเล็กทรอนิกส์ 
                สื่อวัสดุ 2 มิติโดยทั่วไปหมายถึงสื่อวัสดุกราฟิกที่มีรูปภาพ  ตัวหนังสือ  และสัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบสำคัญ  ใช้ในแสดงความหมายของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง  แนวคิด  เพื่อเสริมความเข้าใจเนื้อหาบทเรียนที่มีลักษณะเป็นนามธรรม   ผู้เรียนสามารถรับรู้และเรียนรู้ได้ด้วยการมองเห็นทางตา  ตัวอย่างของวัสดุกราฟิกที่ใช้กับการเรียนการสอน  เช่น  แผนภูมิ  แผนภาพ  แผนสถิติ  ภาพการ์ตูน  ภาพโปสเตอร์  ภาพประกอบเรื่อง  สมุดภาพ  เป็นต้น     
                สื่อวัสดุ  3 มิติ  เป็นสื่อที่สร้างมาจากวัสดุต่าง ๆ มีความกว้าง  ยาว  และหนาหรือลึก ทำให้เกิดเป็นรูปทรงต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น  หุ่นจำลอง  ของจริง  ป้ายนิเทศ  กระดานแม่เหล็ก  เป็นต้น 
                สื่อวัสดุอิเล็กทรอนิกส์  เป็นวัสดุที่ใช้กับเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ตัวอย่างเช่น  เทปเสียง  ม้วนวิดีทัศน์  แผ่นซีดี  เป็นต้น

หนังสืออ้างอิง

กิดานันท์  มลิทอง. ( 2544 ). สื่อการสอนและฝึกอบรมจากสื่อพื้นฐานถึงสื่อดิจิตัล. กรุงเทพฯ
        อรุณการพิมพ์.
ณรงค์  สมพงษ์. ( 2535 ). สื่อเพื่องานส่งเสริมเผยแพร่. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.
วิรุฬ   ลีลาพฤทธิ์. ( 2521 ). เทคโนโลยีทางการศึกษา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช.
สมบูรณ์   สงวนญาติ. ( 2534 ). เทคโนโลยีทางการสอน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา.
Wittich  and  others. (1973 ).Instructional  Technology : It  nature  and  Use.  5th. ed.  
         New  York : Harper  7  Row  Publishers.


 พลิกทั้งเล่ม



















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คำถามทบทวน

1. วัสดุ 2 มิติกับ 3 มิติ มีความแตกต่างกันอย่างไร

2. วัสดุกราฟิกหมายถึงอะไร

3. วัสดุกราฟิกมีคุณค่าและประโยชน์อย่างไร

4. วัสดุกราฟิกที่ดีมีลักษณะอย่างไร

5. หลักการออกแบบวัสดุกราฟิกที่ดีเป็นอย่างไร

6. จงกล่าวถึงข้อดีและข้อจำกัดของวัสดุกราฟิก

7. แผนภูมิกับแผนภาพแตกต่างกันอย่างไร

8. ภาพพลิก ภาพชุด แผ่นภาพแตกต่างกันอย่างไร

9. จงยกตัวอย่างและอธิบายลักษณะสื่อวัสดุ 3 มิติ มา 3 ตัวอย่าง

10. จงยกตัวอย่างและอธิบายลักษณะสื่ออิเล็กทรอนิกส์มา 3 อย่าง